การเจริญเติบโตของสัตว์

             เมื่อสัตว์ต่าง ๆ ถือกำเนิดขึ้นมา สัตว์ จะมีการเจริญเติบโต หมายถึงมีร่างกายขยายใหญ่ขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะต่าง ๆ หลังจากไข่ผสมกับอสุจิ จะมีการเพิ่มและขยายจำนวนเซลล์จนกลายเป็นตัวอ่อนแล้วพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อและระบบอวัยวะ  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน ตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายคลึงกับพ่อ แม่ ของมัน จะเจริญเติบโตโดยการเปลี่ยนแปลงขนาดและสัดส่วนของร่างกาย  สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก และแมลงบางชนิด จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นขั้น ๆ และมีรูปแบบที่  แน่นอน



ลักษณะการเจริญเติบโตของสัตว์

     การเจริญเติบโตของสัตว์แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะได้แก่
       1.  การเจริญเติบโตแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
       2.  การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย
       3.  การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์
       4.  การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์

1.  การเจริญเติบโตแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
               ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่มีลักษณะคล้ายกับพ่อแม่ทุกประการ เพียงแต่ขนาดเล็กกว่า เติบโตโดยการขยายขนาดและสัดส่วนดังนี้
               -  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุกร สุนัข สัตว์จำพวกแมว ม้า วัว ควาย แพะ แกะ วาฬ โลมา     พยูน ฯลฯ
               -  สัตว์ปีก เช่น นกทุกชนิด เป็ด ไก่ ห่าน เหยี่ยว
               -  สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จระเข้ กิ้งก่า งู จิ้งเหลน ตุ๊กแก ฯลฯ
               -  แมลงบางชนิด เช่น แมลงหางดีด แมลงสองง่าม แมลงสามง่าม

2.  การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย
              การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อยมีการเปลี่ยนแปลรูปร่างเป็น 3 ชั้น เริ่มจากไข่ ฟักเป็นตัวอ่อนซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัยแต่อวัยวะบางอย่างไม่ครบ จะลอกคราบไปเรื่อย ๆ จนร่างกายเหมือนกับตัวเต็มวัยทุกอย่าง ได้แก่ ตั๊กแตน ปลวก แมลงสาบ จิ้งหรีด เหา ไรไก่

3.  การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์
             การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์มีการเปลี่ยนแปลรูปร่างเป็น 3 ชั้น เริ่มจาก ไข่ ฟักเป็นตัวอ่อนซึ่งจะอาศัยอยู่ในน้ำ หายใจด้วยเหงือก จากนั้นขึ้นจากน้ำ ลอกคราบ กลายเป็นตัวเต็มวัย อาศัยอยู่บนบก หายใจด้วยปอด ได้แก่ แมลงปอ แมลงชีปะขาว

4.  การเจริญเติบโตแบบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์
            มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างครบ 4 ขั้น เริ่มจากไข่ ฟักเป็นตัวอ่อน ซึ่งเรียกกันว่า “หนอน” หรือ         “ ตัวบุ้ง” หรืออย่างอื่น แล้วแต่ว่าเป็นตัวอ่อนของแมลงชนิดใดต่อมาสร้างรังห่อหุ้มตัวเองเรียกว่า           “ ดักแด้ ” ถ้าเป็นจำพวกยุงเรียกว่า “ ตัวโม่ง ” เมื่อครบกำหนดจะกลายเป็นตัวเต็มวัย เช่น ผีเสื้อ แมลงวัน ยุง ด้วงปีกแข็ง และมีสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ปาด เป็นต้น

ระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย


         ร่างกายของเราประกอบด้วยอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน อวัยวะภายนอกเป็นอวัยวะที่เราสามารถมองเห็นได้ ส่วนอวัยวะภายในเป็นอวัยวะที่อยู่ใต้ผิวหนังซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในเหล่านี้มีมากมายและทำงานประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบ เช่น ระบบการย่อยอาหาร ก็จะประกอบด้วยปาก หลอดลม กระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้การย่อยอาหารเป็นไปอย่างปกติ ถ้าอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดความบกพร่องหรือเกิดความผิดปกติ ระบบการทำงานนั้นก็จะบกพร่องหรือผิดปกติด้วย


ระบบการย่อยอาหาร
          ระบบย่อยอาหารมีหน้าที่ย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไปให้ละเอียด และดูดซึมสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารนั้นเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย
         1. ปาก เป็นอวัยวะแรกของระบบย่อยอาหาร ภายในปากประกอบด้วยลิ้น ฟัน และต่อมน้ำลาย
         2. หลอดอาหาร ไม่มีหน้าที่ในการย่อยอาหาร แต่ทำหน้าที่ในการลำเลียงอาหารไปสู่กระเพาะอาหารเท่านั้น มีความยาว 25 ซม. เพราะหลอดอาหารมีผนังที่ยืดและหดตัวได้
         3. กระเพาะอาหาร มีลักษณะเป็นถุงรูปร่างตัวเจ สามารถขยายตัวได้เมื่อมีอาหาร 10-40 เท่า กระเพาะอาหารทำหน้าที่ในการผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยอาหาร โดยกระเพาะอาหารจะบีบตัวให้อาหารคลุกเคล้ากับน้ำย่อย


          4. ลำไส้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
              4.1)  ลำไส้ดูโอดีนัม เป็นลำไส้ที่อยู่ต่อกับกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่เปลี่ยนกรดจากกระเพาะ อาหารให้เป็นกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้ส่วนอื่นได้รับอันตรายจากกรด
              4.2)  ลำไส้เล็ก รูปร่างเป็นท่อ ยาวประมาณ 6.5 ซม. ในลำไส้เล็กมีน้ำย่อยหลายชนิดใช้ย่อยอาหารได้ทุกประเภท
              4.3)  ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำและเกลือแร่บางส่วนที่ยังหลงเหลือในกากอาหาร ทำให้กากอาหารแห้งเป็นก้อนอุจจาระ




ระบบวงจรโลหิต
          ระบบวงจรหมุนเวียนโลหิตเป็นกระบวนการหมุนเวียนโลหิตไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อนำกาซออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์ของร่างกาย พร้อมนำกาซคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียที่ร่างกายใช้แล้วออกมานอกร่างกาย
         1. หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในระบบวงจรโลหิต รูปร่างคล้ายดอกบัวตูม แบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือ หัวใจห้องบนซ้าย หัวใจห้องล่างซ้าย หัวใจห้องบนขวา หัวใจห้องล่างขวา ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตแดงไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อหัวใจคลายตัวก็จะสูบโลหิตเข้ามา และเมื่อหัวใจบีบตัวก็เป็นการฉีดโลหิตออกไป การศูบฉีดโลหิตนี้เป็นการทำงานของหัวใจ 4 ห้องนี้
         2. ปอด ทำหน้าที่ฟอกโลหิตดำให้เป็นโลหิตแดง โดยรับโลหิตดำที่ส่งมาจากหัวใจห้องล่างขวามาถ่ายคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากโลหิตดำ และส่งกาซออกซิเจนให้แทน ซึ่งทำให้โลหิตดำเปลี่ยนเป็นโลหิตแดง การแลกเปลี่ยนกาซภายในปอดนี้ เรียกว่า การฟอกโลหิต
         3. เส้นเลือด หรือหลอดเลือด มี 2 ชนิด คือ หลอดโลหิตแดง และ หลอดโลหิตดำ
            1) หลอดโลหิตแดง ทำหน้าที่ลำเลียงโลหิตที่ถูกฉีดออกจากหัวใจไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย
            2) หลอดโลหิตดำ ทำหน้าที่ลำเลียงโลหิตดำกลับเข้าสู่หัวใจ
         4. โลหิตหรือน้ำเลือด เป็นของเหลวที่บรรจุอยู่ในหลอดโลหิต
           1) เซลล์เม็ดเลือดแดง จะนำออกซิเจนที่รวมอยู่กับสารฮีโมโกลบินไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย
           2) เซลล์เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากแบคทีเรียและจุลินทรีย์ต่างๆที่มีอันตรายต่อร่างกาย

ระบบหายใจ
      1. จมูก แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
           - ส่วนรับลมหายใจ จะมีขนจมูกช่วยกรองฝุ่นละอองในอากาศ
           - ส่วนหายใจ จะมีเยื่อเมือกอยู่จำนวนมาก เพื่อทำให้อากาศที่เราหายใจเข้าไปอุ่นและมีความชื้น
จมูกส่วนนี้จะทะลุออกไปภายในลำคอได้
           - ส่วนดมกลิ่น จะมีเซลล์รับกลิ่นอยู่ ทำหน้าที่แปลกลิ่นเป็นสัญญาณประสาทผ่านเส้นประสาทก่อนเข้าสู่สมองเพื่อแปลผลการดมกลิ่น
      2. หลอดลม ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอากาศลงสู่ปอด
      3. ปอด เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในระบบการหายใจ ด้านนอกปอดจะมีเยื่อลื่นๆหุ้มป้องกันไม่ให้ปอดได้รับอันตราย เรียกว่า เยื่อหุ้มปอด ปลายขั้วปอดจะแตกแขนงออกเป็นหลอดลมเล็กๆจำนวนมาก เรียกว่า หลอดลมฝอย ที่ปลายทางของหลอดลมฝอยจะมีถุงลมเล็กๆจำนวนมากสำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซ


ระบบขับถ่าย
         ระบบขับถ่าย ทำหน้าที่กรองของเสียจากโลหิตออกนอกร่างกาย ระบบขับถ่ายของคนเรา มี 4 ระบบ คือ ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบขับถ่ายเหงื่อ ระบบขับถ่ายอุจจาระ ระบบขับถ่ายกาซคาร์บอนไดออกไซด์
        1. ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดแล้วนำออกนอกร่างกายในรูปของปัสสาวะ
            1.1 ไต รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ตั้งอยู่ทางด้านหลังของช่องท้องด้านซ้ายและขวา ทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด ขับออกมาเป็นน้ำปัสสาวะไหลไปตามท่อเล็กๆในไต โดยไปรวมกันที่กรวยไต จากนั้นก็ไหลผ่านท่อไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะ พร้อมที่จะขับออกมานอกร่างกายทางท่อปัสสาวะ
            1.2 กระเพาะปัสสาวะ ตั้งอยู่ตอนล่างของช่องท้อง สามารถบรรจุน้ำปัสสาวะได้ประมาณ 1.5 ล.
        2. ระบบขับถ่ายเหงื่อ ทำหน้าที่สกัดน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกายในรูปของเหงื่อ
        3. ระบบขับถ่ายอุจาระ ทำหน้าที่ขับกากอาหารที่เหลือจากการย่อยอาหารออกจากร่างกายในรูปของอุจาระ
           3. 1. ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำและเกลือแร่ออกจากกากอาหาร และขับเมือกออกมาหล่อลื่นให้กากอาหารส่วนที่แข็งเคลื่อนที่ผ่านไปได้
           3. 2. ทวารหนัก ทำหน้าทีเป็นทางระบายอุจจาระ
        4. ระบบขับถ่ายกาซคารบอนไดออกไซด์ ทำหน้าทีขับกาซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นกาซที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกาย อวัยวะที่สำคัญในระบบนี้ คือ ปอด

ระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

           กลุ่มของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกันเรียกว่า ระบบอวัยวะ (organ system) อวัยวะในระบบเดียวกันอาจมีความสัมพันธ์ร่วมกันได้หลายทาง แต่มักจะมีลักษณะหน้าที่การทำงานเกี่ยวข้องกัน เช่น ระบบขับถ่ายประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่างที่ทำหน้าที่ร่วมกันในการผลิต เก็บ และขับปัสสาวะออก
หน้าที่ของระบบอวัยวะมักจะมีหน้าที่ทับซ้อนกัน เช่น ไฮโปทาลามัส (hypothalamus) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ทั้งในระบบประสาท (nervous system) และระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine system) ทำให้การศึกษาทั้งสองระบบมักจะทำร่วมกันเรียกว่า ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ (neuroendocrine system) เช่นเดียวกันกับ ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (musculoskeletal system) ซึ่งเป็นความเกี่ยวข้องกันระหว่างระบบกล้ามเนื้อ (muscular system) และ ระบบโครงกระดูก (skeletal system)



รายชื่อระบบอวัยวะหลักๆ ในร่างกายมนุษย์
ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยระบบหลักๆ 11 ระบบ
• ระบบทางเดินอาหาร - การดูดซึมสารอาหาร และขับถ่ายกากอาหารออก
• ระบบโครงกระดูก - เป็นโครงร่างของร่างกายและการเคลื่อนไหว ผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์
• ระบบกล้ามเนื้อ - เป็นโครงร่างของร่างกายและการเคลื่อนไหว สร้างความร้อน
• ระบบประสาท - เป็นศูนย์รวมและประสาทการทำงานโดยสัญญาณทางไฟฟ้าเคมี
• ระบบต่อมไร้ท่อ - เป็นศูนย์รวมและประสาทการทำงานโดยฮอร์โมน
• ระบบไหลเวียนโลหิต - ขนส่งสารภายในร่างกาย
• ระบบหายใจ - กำจัดคาร์บอนไดออกไซด์และดูดซึมแก๊สออกซิเจน
• ระบบสืบพันธุ์ - ผลิตลูกหลานเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์
• ระบบปกคลุมร่างกาย - ปกคลุมร่างกายภายนอก
• ระบบน้ำเหลือง - ควบคุมของเหลวในร่างกาย และทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
• ระบบขับถ่ายปัสสาวะ - ขับถ่ายของเสีย และควบคุมสมดุลเกลือแร่

อวัยวะของมนุษย์ แบ่งตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

1.ศีรษะและคอ (Head and neck)
• สมอง (brain)
• ใบหน้า (face)
• หู (ears)
• เบ้าตา (orbit)
• ตา (eye)
• ปาก (mouth)
• ลิ้น (tongue)
• ฟัน (teeth)
• จมูก (nose)
• หนังศีรษะ (scalp)
• กล่องเสียง (larynx)
• คอหอย (pharynx)
• ต่อมน้ำลาย (salivary glands)
• เยื่อหุ้มสมอง (meninges)
• ต่อมไทรอยด์ (thyroid)
• ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid gland)

2.หลัง (Back)
• กระดูกสันหลัง (vertebra)
• ไขสันหลัง (spinal cord)

3.อก (Thorax)
• ต่อมน้ำนม (mammary gland)
• ปอด (lungs)
• หัวใจ (heart)
• ประจันอก (mediastinum)
• หลอดอาหาร (esophagus)
• กะบังลม (diaphragm)
• ต่อมไทมัส (thymus)



4.ท้อง (Abdomen)

• เยื่อบุช่องท้อง (peritoneum)

• กระเพาะอาหาร (stomach)

• ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือ ดูโอดีนัม (duodenum)

• ลำไส้ (intestine)

• ลำไส้เล็ก (small intestine)

• ลำไส้ใหญ่ (colon)

• ตับ (liver)

• ม้าม (spleen)

• ตับอ่อน (pancreas)

• ไต (kidney)

• ต่อมหมวกไต (adrenal gland)

• ไส้ติ่ง (vermiform appendix)


5.เชิงกราน และฝีเย็บ (Pelvis and perineum)

• เชิงกราน (pelvis)

• กระเบนเหน็บ (sacrum)

• ก้นกบ (coccyx)

• รังไข่ (ovaries)

• ท่อนำไข่ (Fallopian tube)

• มดลูก (uterus)

• ช่องคลอด (vagina)

• โยนี (vulva)

• คลิตอริส หรือ ปุ่มกระสัน (clitoris)

• ฝีเย็บ (perineum)

• กระเพาะปัสสาวะ (urinary bladder)

• อัณฑะ (testicles)

• ไส้ตรง (rectum)

• องคชาต (penis)


6.รยางค์บนและรยางค์ล่าง (Upper limbs/Lower limbs)

• กล้ามเนื้อ (muscle)

• กระดูก (skeleton)

• เส้นประสาท (nerves)

• มือ (hand)

• ข้อมือ (wrist)

• ข้อศอก (elbow)

• ไหล่ (shoulder)

• สะโพก (hip)

• เข่า (knee)

• ข้อเท้า (ankle)

การเจริญเติบโตของมนุษย์

พืชและสัตว์มีการเจริญเติบโตตัวเราก็มีการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับต้นพืช เมื่อก่อนเราตัวเล็ก เดี๋ยวนี้เราตัวโตขึ้น ที่เราตัวโตขึ้น เพราะเราได้กินอาหารทุกวัน อาหารที่เหมาะสม และช่วยให้เด็กๆ อย่างพวกเราเจริญเติบโตได้ดีชนิดหนึ่ง คือ นม การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายของเราเจริญเติบโตและแข็งแรง สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าร่างกายของเรามีการเจริญเติบโต คือ การมีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้น ความสูงของร่างกายคนเรา จะเพิ่มขึ้นอย่างพอเหมาะกับน้ำหนักตัวเรา เด็กผู้หญิงจะมีส่วนสูงเต็มที่เมื่อมีอายุระหว่าง 14 – 15 ปี หลังจากนั้นก็จะสูงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ส่วยเด็กผู้ชายส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นที่เมื่ออายุระหว่าง 17 – 18 ปี หลังจากนั้นส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย



1. การเจริญเติบโตของร่างกายในวัยต่างๆ
ร่างกายคนเรา มีการเจริญเติบโตจากวัยทารกสู่วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในแต่ละวัยขนาดของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป การเจริญเติบโตทางร่างกายของคนเรา สักเกตได้จากสิ่งต่อไปนี้

1. น้ำหนัก

2. ส่วนสูง

3. ความยาวของลำตัว

4. ความยาวของช่วงแขนเมื่อกางเต็มที่

5. ความยาวของเส้นรอบวงศีรษะ

6. ความยาวของเส้นรอบอก

7. การขึ้นของฟันแท้



เด็กวัยทารกหรือเด็กวัยแรกเกิด
เด็กวัยแรกเกิดจะมีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงสามปี จะมีการเจริญเติบโตโดยมีสัดส่วนของศีรษะต่อลำตัวเป็น 1 ต่อ 4

เด็กก่อนวัยเรียน
ในวัยนี้จะมีอายุอยู่ในช่วง 3 -6 ปี รูปร่างและสัดส่วนของเด็กจะเปลี่ยนไปจากวัยแรกเกิด ดังนี้

รูปร่างค่อยๆ ยืดตัวออกใบหน้าและศีรษะเล็กลงเมือเทียบกับลำตัว มือและเท้าใหญ่และแข็งแรง อกและไหล่ขยายกว้างขึ้น แต่หน้าท้องแฟบลง

เด็กวัยเรียน

เด็กในวัยเรียนอายุระหว่าง 6 – 12 ปี จะมีการเจริญเติบโต ดังนี้
น้ำหนักโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 – 3 กิโลกรัมต่อปี ส่วนสูงเพิ่มประมาณ 4 – 5 เซนติเมตรต่อปี ฟันน้ำนมจะเริ่มหักเมื่ออายุประมาณ 6 ปี และจะมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่

เด็กวัยรุ่น

เด็กวัยรุ่นจะมีอายุอยู่ในช่วงอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป จนถึงอายุประมาณ 20 ปี ระยะวัยรุ่นจัดว่าเป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัยที่ร่างกายและจิตใจเริ่มเปลี่ยนจากวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จึงจัดว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชีวิต ซึ่งถ้าวัยรุ่นไม่ได้รับการแนะนำอย่างถูกต้อง อาจทำให้ประพฤติในสิ่งที่ผิดได้

เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ทั้งเพศชายและเพศหญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนี้

เพศชาย จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่ออายุประมาณ 15 ปี ร่างกายจะขยายใหญ่ขึ้นมีกล้ามเนื้อขึ้นเป็นมัด แขนขาขาวใหญ่ขึ้น มีหนวดเครา นมแตกพานเสียงห้าว มีขนขึ้น

เพศหญิง จะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมืออายุประมาณ 15 ปี หน้าอกจะขยายใหญ่ขึ้น เอวคอด สะโพกพาย ใบหน้าและผิวพรรณเปล่งปลั่งขึ้น มีสิวขึ้นที่ใบหน้าและมีประจำเดือน

การติดตามดูแลการเจริญเติบโตของตนเอง

การเจริญเติบโตของคนเรา เป็นสิ่งที่บ่งบอกเกี่ยวกับสุภาพของร่างกายของคนคนนั้น เพราะถ้าร่างกายมีการเจริญเติบโตที่เหมาะสมกับวัย ก็จะทำให้คนคนนั้นสามารถพัฒนาจากวัยหนึ่งไปสู่อีกวัยหนึ่งได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักติดตามดูแลและสังเกตการณ์เจริญเติบโตทางร่างกายของตนเองอยู่เสมอ



การติดตามดูแลการเจริญเติบโต

1. ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของตนเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

2. สำรวจตนเองและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและนำมาเปรียบเทียบกับเพื่อนในวัยเดี่ยวกัน

3. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี เป็นประจำทุกๆ ปี

การติดตามดูแลการเจริญเติบโตของตนเอง จะทำให้เราทราบว่าตนเองมีการเจริญเติบโตทางร่างกายเป็นไปตามวัยหรือไม่ และถ้าพบว่าตัวเรามีปัญหาด้านสุขภาพก็จะทำให้สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้ตั้งแต่เบื้องต้น

การเกิดลมและประเภทของลม

       ลม (wind) สาเหตุหลักของการเกิดลม คือ ดวงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อมีการแผ่รังสีความร้อนของดวงอาทิตย์มายังโลก แต่ละตำแหน่งบนพื้นโลกได้รับปริมาณความร้อนไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิและความกดอากาศในแต่ละตำแหน่ง บริเวณใดที่มีอุณหภูมิสูงหรือความกดอากาศต่ำอากาศในบริเวณนั้นก็จะลอยตัวขึ้นสูง อากาศจากบริเวณที่เย็นกว่าหรือมีความกดอากาศสูงกว่าจะเคลื่อนที่เข้ามาแทนที่ การเคลื่อนที่ของมวลอากาศนี้คือการทำให้เกิดลมนั่นเอง และจากการเคลื่อนที่ของมวลอากาศนี้ ทำให้เกิดเป็นพลังงานจลน์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ ลมสามารถจำแนกออกได้หลายชนิดตามสถานที่ที่เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิ ดังนี้

            1. ลมบกลมทะเล
            2. ลมภูเขาและลมหุบเขา


         
ลมบกและลมทะเล
ลมทะเล เกิดจากความร้อนซึ่งแตกต่างกันระหว่างบริเวณทะเลและพื้นดินตามชายฝั่งในตอนเช้าและตอนบ่าย เวลากลางวันผืนแผ่นดินตามชายฝั่งได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ ทำให้มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณทะเล ดังนั้นอากาศในบริเวณแผ่นดินจึงมีความแน่นน้อยกว่า และความกดก็ลดลงด้วยจึงลอยตัวขึ้น ดังนั้นอากาศเย็นตามบริเวณทะเลจะพัดเข้ามาแทนที่ ลมซึ่งพัดจากทะเลนี้เรียกว่า "ลมทะเล" (sea breeze) ซึ่งเกิดขึ้นในตอนบ่ายและเย็น นอกจากตามชายฝั่งทะเลแล้ว ลักษณะคล้ายลมทะเลนี้อาจจะเกิดขึ้นตามทะเลสาบใหญ่ ๆ ก็ได้



ส่วนมากลมบก (land breeze) นั้น เกิดขึ้นในทิศตรงกันข้ามกับทะเล และมีกำลังแรงน้อยกว่า กล่าวคือในตอนกลางคืนพื้นน้ำมีอุณหภูมิสูงกว่าผืนแผ่นดิน ดังนั้นอากาศในบริเวณทะเลซึ่งมีความแน่นน้อยกว่าจะลอยตัวขึ้น อากาศเย็นในบริเวณแผ่นดินจะพัดออกไปแทนที่

จากความรู้เรื่องลมบกลมทะเลนี้ ชาวประมงได้อาศัยกำลังของลมดังกล่าวเป็นเครื่องช่วยในการแล่นเรือเข้าหรือออกจากฝั่งได้ดีในการดำเนินอาชีพหาปลาของเขา






            ลมภูเขาและลมหุบเขา (mountain and valley winds) เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างสันเขาและหุบเขา โดยลมภูเขาจะพัดจากสันเขาลงไปสู่หุบเขาในตอนกลางคืน เนื่องจากบริเวณสันเขาอยู่ในที่สูงกว่าจึงเย็นเร็วกว่าหุบเขาดังนั้นจึงมีลมพัดลงจากยอดเขาสู่หุบเขา ส่วนลมหุบเขาจะพัดจากหุบเขาขึ้นไปสู่สันเขาโดยเกิดขึ้นในตอนกลางวัน เนื่องจากบริเวณหุบเขาเบื้องล่างจะมีอุณหภูมิต่ำกว่ายอดเขาจึงมีลมพัดขึ้นไปตามความสูงของสันเขา นอกจากนี้ยังมีการเรียกชื่อลมตามทิศการเคลื่อนที่ในแต่ละฤดูกาล เช่น ลมมรสุม ซึ่งหมายถึงลมที่พัดเปลี่ยนทิศทางกับการเปลี่ยนฤดูคือฤดูร้อนจะพัดอยู่ในทิศทางหนึ่ง และจะพัดเปลี่ยนทิศทางเป็นตรงกันข้ามใน ฤดูหนาว (กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. 2546. ออน-ไลน์)

การแบ่งชั้นบรรยากาศ

ชั้นบรรยากาศ  คืออะไร

         ชั้นบรรยากาศ  คือ ชั้นของอากาศที่ล้อมรอบโลกและด้วยแรงดึงดูดของโลกทำให้ชั้นบรรยากาศคงสภาพอยู่ได้ ชั้นบรรยากาศมีความหนารวมแล้วประมาณ 310 ไมล์ อากาศในชั้น บรรยากาศแต่ละชั้นจะแตกต่างกัน แต่ในทุก ๆ ชั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญของสิ่งแวดล้อมของโลก

         การแบ่งชั้นบรรยากาศ สามารถแบ่งออกได้ 4 แบบ ดังต่อไปนี้
         1. แบ่งชั้นบรรยากาศตามลักษณะและระดับความสูง
         2. แบ่งชั้นบรรยากาศโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณฑ์
         3.แบ่งชั้fนบรรยากาศโดยใช้ก๊าซเป็นเกณฑ์
         4. แบ่งชั้นบรรยากาศทางอุตุนิยมวิทยา



1. แบ่งชั้นบรรยากาศตามลักษณะและระดับความสูง แบ่งได้ 2 ส่วน คือ
     1.1 ชั้นบรรยากาศส่วนล่าง เป็นส่วนที่อยู่ใกล้ผิวโลก อุณหภูมิจะลดลงตามระดับความสูงทุกระยะที่สูงขึ้น 100 เมตร อุณหภูมิจะลดลง 0.64 องศาเซลเซียสจนกว่าจะถึงบรรยากาศส่วนบน
           1) โทรโพสเฟียร์ (Troposphere) คือ บรรยากาศชั้นล่างสุดสูงจากผิวโลก 8 - 15 กิโลเมตร มีอิทธิพลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมากที่สุด อากาศที่มนุษย์หายใจเข้าไปคืออากาศชั้นนี้ เมฆ พายุ ลม และลักษณะอากาศต่าง ๆ เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นนี้ อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งและรวดเร็วกว่าบรรยากาศชั้นอื่น ๆ
           2) สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ความสูง 15 - 50 กิโลเมตร บรรยากาศชั้นนี้มีก๊าซโอโซนเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย และก๊าซโอโซนนี้เอง ที่ทำหน้าที่ดูดซับรังสีอุลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นรังสีอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์และพืช ไม่ให้ส่องลงมากระทบถึงพื้นโลก ก๊าซชนิดนี้เกิดจากการที่โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนแตกตัว และจัดรูปแบบขึ้นใหม่เมื่อถูกรังสีจากดวงอาทิตย์ช่วยดูดซับรังสีเหนือม่วง ของแสงอาทิตย์ทำให้บรรยากาศอุ่นขึ้น เครื่องบินไอพ่นจะบินในชั้นนี้เนื่องจากมีทัศนวิสัยดี
           3) มีโซสเฟียร์ (Mesosphere) สูงจากพื้นดิน 50 - 80 กิโลเมตรเหนือชั้นโอโซน อุณหภูมิจะลดลงตามความสูงที่เพิ่มขึ้นโดยอาจต่ำได้ถึง 83 องศาเซลเซียส อุกกาบาตหรือชิ้นส่วนหินจากอวกาศที่ตกลงมามักถูกเผาไหม้ในชั้นนี้ การส่งคลื่นวิทยุทั่วๆ ไปก็ส่งในชั้นนี้เช่นกัน
    1.2  บรรยากาศส่วนบน มีคุณสมบัติ ตรงข้ามกับบรรยากาศส่วนล่าง คือ แทนที่อุณหภูมิจะต่ำลงแต่กลับสูงขึ้นและยิ่งสูงยิ่งร้อน มาก บรรยากาศส่วนนี้จำแนกเป็น 3 ชั้นเช่นกัน คือ
          1) เทอร์โมสเฟียร์ (Thermosphere) สูง 80 - 450 กิโลเมตร ความหนาแน่นของอากาศจะลดลงอย่างรวดเร็วแต่อุณหภูมิจะสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส สามารถส่งวิทยุคลื่นยาวกว่า 17 เมตรไปได้ทั่วโลก โดยส่งสัญญาณจากพื้นโลกให้คลื่นสะท้อนกับชั้นไอออนของก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน ซึ่งถูกรังสีเหนือม่วงและรังสีเอกซ์ทำให้แตกตัว
         2) เอกโซสเฟียร์ (Exsphere) บรรยากาศชั้นนี้สูงจากพื้นโลกประมาณ 450 - 900 กิโลเมตร มีก๊าซอยู่น้อยมาก มนุษย์อวกาศจะต้องควบคุมบรรยากาศให้มีความดันเท่ากับความดันภายในร่างกาย ต้องสวมใส่ชุดที่มีก๊าซออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ ดาวเทียมพยากรณ์อากาศจะโคจรรอบโลกในชั้นนี้
         3) แมกเนโตสเฟียร์ (Magnetosphere) ชั้นนี้มีความสูงมากกว่า 900 กิโลเมตร ไม่มีก๊าซใดๆ อยู่เลย



2. แบ่งชั้นบรรยากาศโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 4 ชั้นดังนี้
    2.1 โทรโพสเฟียร์ (Troposhere) อยู่ระหว่าง 0-10 กม. โดยอุณหภูมิจะค่อยๆลดลงตามความสูง โดยเฉลี่ยกม.ละ 6.5องศา c เป็นชั้นที่สำคัญมากเพราะเป็นบริเวณที่มีไอนำ เมฆ หมอก และพายุ
    2.2 สตราโตสเฟียร์ (Stratoshere) อยู่ระหว่างความสูง 10-50 กม. เป็นชั้นที่ไม่มีเมฆ มักใช้ในการเดินทางทางอากาศ โดยอุณหภูมิจะคงที่ จนถึงความสูง 50 กม. และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา0.5 องศา c ต่อ1กม.
    2.3 เมโซสเฟียร์ (Mesosphere) เป็นชั้นบรรยากาศระหว่าง 50-80 กม. โดยอุณหภูมิจะลดลงตามความสูง
    2.4 เทอร์โมสเฟียร์(Thermoshere) ตั้งแต่ 80-500กม. อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแรกแล้วอัตราการสูงขึ้นจะลดลง อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 227-1727 องศา c โดยชั้นนี้จะมีความหนาแน่นของอนุภาคต่างๆจางมาก แต่ก๊าซต่างๆ ในชั้นนี้จะอยู่ในลักษณะที่เป็นอนุภาคที่เป็นประจุไฟฟ้าเรียกว่า อิออน สามารถสะท้อนคลื่นวิทยุได้ บรรยากาศในชั้นนี้ถือเป็นบริเวณที่เปลี่ยนจากบรรยากาศของโลกมาเป็นก๊าซระหว่างดาวที่เบาบาง และเป็นชั้นนอกสุดของบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก เรียกว่า เอกโซสเฟียร์
          นอกจากนี้ ยังเรียก ชั้นโฮโมสเฟียร์ คือ ชื่อเรียกบรรยากาศชั้น โทรโพรสเฟียร์ สตราโตสเฟียร์และมีโซสเฟียร์รวมกัน



3. แบ่งชั้นบรรยากาศโดยใช้ก๊าซเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 4 ชั้น คือ
    3.1  โทรโพสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ติดกับพื้นโลก สูง 0-10 กม. มีก๊าซที่สำคัญคือ ไอน้ำ
    3.2  โอโซโนสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศสูง10-50 กม. มีก๊าซที่สำคัญคือ โอโซน
    3.3  ไอโอโนสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศสูง 80-600 กม. มีสิ่งที่สำคัญคือ อิออน
    3.4  เอกโซเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศซึ่งสูงตั้งแต่ 600 กม. ขึ้นไป โดยความหนาแน่นของอะตอมต่างๆ มีค่าน้อยลง

เซลล์และโครงสร้างของเซลล์

เซลล์และทฤษฎีเซลล์


             ร่างกายของคนเราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานของระบบต่าง ๆ และอวัยวะดังกล่าวเกิดจากเนื้อเยื่อ (tissue) ที่ประกอบด้วยหน่วยย่อยเล็ก ๆ ลงไปอีกหน่วยย่อยนี้เรียกว่า เซลล์ จึงกล่าวได้ว่า เซลล์เป็นหน่วยโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุด
            เซลล์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า การศึกษาเกี่ยวกับเซลล์จึงต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ ถ้ากล้องจุลทรรศน์นั้นมีกำลังขยายสูงก็จะพบรายละเอียดของสิ่งที่เราต้องการสังเกตมากขึ้น เซลล์สิ่งมีชีวิตมีรูปร่างและโครงสร้างภายในที่แตกต่างกัน
             สิ่งมีชีวิตบางชนิดประกอบด้วยเซลล์เพียงเซลล์เดียวก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และสิ่งมีชีวิตบางชนิดประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์ เซลล์เหล่านี้มีโครงสร้างบางอย่างที่เหมือนและแตกต่างกัน โครงสร้างที่พบในเซลล์ทุกชนิดที่ศึกษาได้แก่ นิวเคลียส ไซโทพลาสซึม และเยื่อหุ้มเซลล์ ในเซลล์พืชและเซลล์สัตว์  มีรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป

              เมื่อประมาณ พ.ศ.2381 มัตทิอัส ชไลเดน (Matthias Schleiden) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันได้ค้นพบว่า พืชทั้งหลายต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหลายเซลล์ และในปีถัดมา พ.ศ.2382 เทโอดอร์ ชวันน์ (Theodor Schwann) นักสัตววิทยาชาวเยอรมัน ได้ประกาศว่าสัตว์ทั้งหลายต่างก็มีเซลล์เป็นองค์ประกอบ นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 คน จึงได้ร่วมกันตั้ง ทฤษฎีเซลล์ (Cell theory) มีใจความว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายประกอบด้วยเซลล์ และเซลล์นั้นคือหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
ทฤษฎีเซลล์ในปัจจุบันครอบคุมถึงใจความที่สำคัญ 3 ประการ คือ
              1. สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอาจมีเพียงเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ ซึ่งภายในมีสารพันธุกรรมและกระบวนการเมทาบอลิซึม ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่ได้
              2. เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานที่เล็กทีสุดของสิ่งมีชีวิตที่มีการจัดระบบการทำงานภายในโครงสร้างของเซลล์
              3. เซลล์มีกำเนิดมาจากเซลล์แรกเริ่ม เซลล์เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์เดิม แม้ว่าชีวิตแรกเริ่มจะมีวิวัฒนาการมาจากสิ่งไม่มี ชีวิต แต่นักชีววิทยายังคงถือว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนเซลล์เป็นผลสืบเนื่องมาจากเซลล์รุ่นก่อน

โครงสร้างของเซลล์ของสัตว์


โครงสร้างของเซลล์ของพืช